น้ำมันแก๊สโซฮอล์หมายถึง น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการผสมเอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอลและน้ำมันเบนซิน นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานานในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา บราซิล สำหรับประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มทดลองจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ให้แก่ประชานทั่วไปเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2528 โดยจำหน่ายผ่านทางสถานีบริการน้ำมันสวัสดิการของกรมศุลกากร กรมวิชาการเกษตรและที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แต่เนื่องจากว่า เอทานอลบริสุทธิ์ร้อยละ 99.5 มีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าราคาน้ำมันทั่วไป จึงไม่คุ้มค่าที่จะนำเอทานอลมาใช้ทดแทนน้ำมัน ทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องหยุดการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ในปี พ.ศ. 2530 ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลให้ยกเลิกการเติมสารตะกั่วในน้ำมันเบนซินเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันต้องนำเข้าสารเพิ่มออกเทน (Octane) สารเพิ่มออกเทนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายชนิดหนึ่งคือ MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) โดยนำมาผสมในน้ำมันเบนซินในสัดส่วนระหว่างร้อยละ 5.5–11 ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันในประเทศทั้งหมดต้องนำเข้าสาร MTBE คิดเป็นมูลค่าสูงถึงปีละ 3,000 ล้านบาท
งานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และมีพระราชดำรัสให้ศึกษาต้นทุนการผลิตแอลกอฮอล์ (เอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอล) จากอ้อย เพราะในอนาคตอาจเกิดภาวะน้ำมันขาดแคลนหรือราคาอ้อยตกต่ำ การนำอ้อยมาแปรรูปเป็นเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินทุนวิจัยใช้ในการดำเนินงาน ๙๒๕,๕๐๐ บาท เพื่อใช้ในการจัดสร้างอาคารและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในขั้นต้น
วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารโครงการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิงและเริ่มผลิตเอทานอลจากอ้อย แต่ต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่มาก
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ จึงได้มีการปรับปรุงและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท สุราทิพย์ จำกัด มีการปรับปรุงหอกลั่นเอทานอลให้สามารถกลั่นเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ ร้อยละ ๙๕ ได้ในอัตรา ๕ ลิตร ต่อชั่วโมง วัสดุที่ใช้หมักคือ กากน้ำตาล ซึ่ง บริษัท สุราทิพย์จำกัด น้อมเกล้าฯ ถวาย
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ร่วมกับบริษัท สุราทิพย์ จำกัด ได้ขยายกำลังการผลิตเอทานอลเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอผสมกับน้ำมันเบนซิน ในอัตราส่วนเอทานอลต่อเบนซินเท่ากับ ๑ : ๔ เชื้อเพลิงผสมที่ได้เรียกว่า น้ำมันแก๊สโซฮอล์
น้ำมันแก็สโซฮอล์ที่ผลิตได้นั้น ถูกนำไปใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ทุกคันโครงการฯ ที่ใช้น้ำมันเบนซิน โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ๕๐ ปี ของสำนักพระราชวัง
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงงานผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงที่บริษัท สุราทิพย์ จำกัด (ปัจจุบันคือ กลุ่มบริษัท 43) น้อมเกล้าฯ ถวายและดำเนินการกลั่นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน กำลังการผลิตหอกลั่น ๒๕ ลิตรต่อชั่วโมง คิดเป็นต้นทุนการผลิตแบบธุรกิจทั่วไป ๓๒ บาทต่อลิตร ถ้าคิดต้นทุนการผลิตแบบยกเว้นต้นทุนคงที่ราคา ๑๒ บาทต่อลิตร (ทำการผลิต ๔ ครั้งต่อเดือน) ได้เอทานอลประมาณ ๙๐๐ ลิตร ต่อการกลั่น ๑ ครั้ง ใช้กากน้ำตาลความหวานร้อยละ ๔๙ โดยน้ำหนัก ครั้งละ ๓,๖๔๐ กิโลกรัม น้ำกากส่า (น้ำเสียจากหอกลั่น) ส่วนหนึ่งจะใช้รดกองปุ๋ยหมักที่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ การปิโตเลียมแห่งประเทศไทยได้น้อมเกล้าฯ ถวายสถานีบริการแก๊สโซฮอล์เพื่อให้ความสะดวกกับรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถานีบริการแก๊สโซฮอล์ดังกล่าว
ต่อมาวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ โครงการส่วนพระองค์ฯ ร่วมกับการปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพของเอทานอล ที่ใช้เติมรถยนต์ โดยโครงการส่วนพระองค์ฯ ส่งเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๕ ไปกลั่นซ้ำเป็นเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๙.๕ ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยแล้วนำกลับมาผสมกับน้ำมันเบนซินธรรมดาในอัตราส่วน ๑ : ๙ ได้แก๊สโซฮอล์ที่มีค่าออกเทนเทียบเท่าน้ำนัมเบนซิน ๙๕ เปิดจำหน่ายแก่ประชาชนที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่งเมื่อปี ๒๕๔๔
ในน้ำมันปิโตรเลียมซึ่งเป็นสารไฮโดรคาร์บอน เผาไหม้อย่างไรก็ไม่หมด จะมีสารที่เผาไหม้ไม่หมด (unburnt ) เหลืออยู่จากการเผาไหม้ อาทิ คาร์บอน มอนนอกไซด์ (carbon monoxide ) ในปริมาณที่สูงซึ่งเป็นมลภาวะ แต่ในเอทานอลแม้ว่าจะมีสัดส่วนเพียงแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ในแก๊สโซฮอล์ ก็สามารถลดมลภาวะได้มาก เนื่องจากในเอทานอลมีออกซิเจน (oxygen) เป็นส่วนประกอบ ออกซิเจนจะช่วยในการเผาไหม้ให้สมบูรณ์ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ เอทานอลจึงเป็นทั้งสารช่วยในการเผาไหม้และสารเพิ่มค่าออกเทน (octane enhancer ) อีกด้วย
การผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์
ในการนำเอทานอลมาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น จะต้องใช้เอทานอลที่มีส่วนผสมของน้ำน้อยที่สุด เนื่องจากจะก่อให้เกิดปัญหาทำให้เครื่องยนต์น็อก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของเครื่องยนต์เกิดสนิม ซึ่งโดยมาตรฐานสากลแล้วควรเป็นเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ระดับร้อยละ 99.5 โดยปริมาตร เมื่อนำมาผสมกับน้ำมันเบนซินธรรมดาในอัตราส่วน 1 : 9 จะได้แก๊สโซฮอล์ที่มีค่าออกเทนเทียบเท่าน้ำมันเบนซิน 95 โดยมีขั้นตอนการผลิตตามสูตรการผสมของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ดังต่อไปนี้
ก. นำเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 99.5 โดยปริมาตร จำนวน 200 ลิตร ใส่ลงในถัง
ข. เติมสารป้องกันการกัดกร่อน (Corrosion Inhibitor) ลงไป จำนวน 30 กรัม
ค. เติมน้ำมันเบนซิน 91 ลงไปจำนวน 1,800 ลิตร เดินเครื่องสูบหมุนเวียน เพื่อให้น้ำมันและส่วนผสมเข้ากันใช้เวลาประมาณ 30–60 นาที จะได้แก๊สโซฮอล์ จำนวน 2,000 ลิตร
บทความวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2550
น้ำมันแก๊สโซฮอล์
วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2550
ฝนดาวตกคืออะไร ?
นักดาราศาสตร์ศึกษาถึงที่มาของฝนดาวตก หรือฝนอุกกาบาต พบว่าอุกกาบาต เหล่านี้ ต่างโคจรรอบ ดวงอาทิตย์ ในเส้นทางเดียวกับดาวหาง บางดวง และได้ข้อสรุป ชัดเจนว่า ฝนดาวตกมีความสัมพันธ์ กับดาวหาง
ดาวหางเทมเพล - ทัดเทิล กับฝนดาวตกลีโอนิดส์
เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย :อาจารย์สิทธิชัย จันทรศิลปินอาจารย์กระจ่าง ธรรมวีระพงษ์ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจ และสาขาอื่นๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัส เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) และได้จัดทำเป็นบทความเรื่อง "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" และได้นำความกราบบังคลทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2542โดยทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้นำบทความที่ทรงแก้ไขแล้วไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสำนักงานฯ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไปในที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอเพียง รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งจะต้องอาศัย ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง ในการนำวิชาต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานข้างต้น เป็นที่มาของ นิยาม "3 ห่วง 2 เงื่อนไข" ที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำมาใช้ในการรณรงค์เผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านช่องทางต่างๆ อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยความ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไข ความรู้ และ คุณธรรม
ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสว่า
“การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง”
พระราชดำรัส "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่ยึดหลักทางสายกลาง คำว่า ความพอเพียง นั้นหมายถึงความพร้อมที่จะจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากทั้งภายนอกและภายใน ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ยังสามารถมองได้ว่าเป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตให้มีความสุข ที่จำเป็นต้องใช้ทั้ง ความรู้ ความเข้าใจ ผนวกกับคุณธรรมในการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เพียงการประหยัด แต่เป็นการดำเนินชีวิตอย่างชาญฉลาด และสามารถอยู่ได้ แม้นในสภาพที่มีการแข่งขัน และการไหลบ่าของโลกาภิวัต นำสู่ ความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน ของ ชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม
อภิชัย พันธเสน ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม ได้จัดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็น "ข้อเสนอในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามแนวทางของพุทธธรรมอย่างแท้จริง" ทั้งนี้เนื่องจากในพระราชดำรัสหนึ่ง ได้ให้คำอธิบายถึงเศรษฐกิจพอเพียงว่า "คือความพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภมาก และต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น" การดำรงชีวิตอยู่ได้ จำเป็นที่จะต้องประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญสี่ประการ ซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ซึ่งในโลกยุคทุนนิยมอย่างเช่นปัจจุบันนี้ ปัจจัยทั้งสี่ไม่อาจจะหามาได้ถ้าปราศจาก เงิน ซึ่งถือว่าเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการมาแต่นมนาน การได้มาซึ่งเงินนั้น จำเป็นที่บุคคลจะต้องประกอบสัมมาอาชีพ แล้วนำเงินที่ได้มานั้น ไปแลกเปลี่ยนให้ได้มาซึ่งปัจจัยในการดำรงชีวิต
ระบบเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งเน้นให้บุคคลสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน และใช้จ่ายเงินให้ได้มาอย่างพอเพียงและประหยัด ตามกำลังของเงินของบุคคลนั้นโดยปราศจากการกู้หนี้ยืมสิน และถ้ามีเงินเหลือ ก็แบ่งเก็บออมไว้บางส่วน ช่วยเหลือผู้อื่นบางส่วน และอาจจะใช้จ่ายมาเพื่อปัจจัยเสริมอีกบางส่วน (ปัจจัยเสริมในที่นี้เช่น ท่องเที่ยว ความบันเทิง เป็นต้น) สาเหตุที่แนวทางการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงได้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในขณะนี้ เพราะสภาพการดำรงชีวิตของสังคมในปัจจุบัน ได้ถูกปลูกฝัง หรือสร้าง หรือกระตุ้น ให้เกิดการใช้จ่ายอย่างเกินตัว ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเกินกว่าปัจจัยในการดำรงชีวิต เช่น การบริโภคเกินตัว ความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ ความสวยความงาม การแต่งตัวตามแฟชั่น การพนันหรือเสี่ยงโชค เป็นต้น จนทำให้ไม่มีเงินเพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น ส่งผลให้เกิดการกู้หนี้ยืมสิน เกิดเป็นวัฏจักรที่บุคคลหนึ่งไม่สามารถหลุดออกมาได้ ถ้าไม่เปลี่ยนแนวทางในการดำรงชีวิต
ในแง่เศรษฐกิจมหภาค ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงอาจจะทำให้ระดับการบริโภคโดยรวมลดลง ซึ่งเป็นไปได้เนื่องจากประชาชนจะไม่กู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่าย แต่อาจทำให้กำลังการใช้จ่ายสะท้อนภาพจริงของเศรษฐกิจ
การนำไปใช้
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นกรอบแนวความคิดและทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาคของไทย ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน เพื่อความอยู่ดีมีสุข มุ่งสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่า สังคมสีเขียว (Green Society) ด้วยหลักการดังกล่าว แผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 นี้จะไม่เน้นเรื่องตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ หรือระบบเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันระหว่างเศรษฐกิจชุมชนเมืองและชนบท
ปัญหาหนึ่งของการนำปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ก็คือ ผู้นำไปใช้อาจยังไม่ได้ศึกษาหรือไม่มีความรู้เพียงพอ ทั้งยังไม่วิเคราะห์หรือตั้งคำถาม เนื่องจากประเพณี. สมเกียรติ อ่อนวิมล เรียกสิ่งนี้ว่า "วิกฤตเศรษฐกิจพอเพียง"คือ ความไม่รู้ว่าจะนำปรัชญานี้ไปใช้ทำอะไร กลายเป็นว่าผู้นำสังคมทุกคน ทั้งนักการเมืองและรัฐบาลใช้คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นข้ออ้างในการทำกิจกรรมใด ๆ เพื่อให้รู้สึกว่าได้สนองพระราชดำรัสและให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี หรือพูดง่ายๆ ก็คือ "เศรษฐกิจพอเพียง" ถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือเพื่อตัวเอง สมเกียรติได้ให้สัมภาษณ์วิจารณ์โครงการในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ว่า "รัฐบาลยังไม่ได้ใช้อะไรเลยเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ใช้แต่พูดเหมือนคุณทักษิณ แต่คุณทักษิณพูดควบคู่กับการเอาทุนนิยม 100 เปอร์เซ็นต์ลงไป.. ซึ่งรัฐบาลนี้ต้องปรับทิศทางใหม่ เพราะรัฐบาลไม่ได้เอาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาและเป็นนโยบายทางวัฒนธรรมและสังคม" สมเกียรติยังมีความเห็นด้วยว่า ความไม่เข้าใจ นี้ อาจเกิดจากการสับสนว่าเศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้มีความเข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงการปฏิเสธอุตสาหกรรมแล้วกลับไปสู่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด.ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ได้รับการเชิดชูสูงสุด จากองค์การสหประชาชาติ (UN)โดยนายโคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัล The Human Development Lifetime Achievement Award แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 26 พฤษภาคม 2549 และได้มีปาฐกถาถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นปรัชญาที่สามารถเริ่มได้จากการสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง สู่หมู่บ้าน และสู่เศรษฐกิจในวงกว้างขึ้นในที่สุด เป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ โดยที่องค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนให้ประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิก 166 ประเทศยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน
วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
ฝนหลวง
ความเป็นมาของในหลวง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ทรงพบเห็นความเดือดร้อนของประชาชนในถิ่นทุรกันดารอันเนื่องมาจากความผันแปรไม่แน่นอนของฝนในธรรมชาติทรงวิเคราะห์ว่า “เมื่อมีฝนก็มีมากเกินพอจนเกิดปัญหาน้ำท่วม เมื่อหมดในก็เกิดภัยแล้งตามมา นี้คือสาเหตุสำคัญของความยากจนของประชาชน” ยังทรงมีพระราชปรารภอีกว่า “เมื่อแหงนมองฟ้าเห็นมีเมฆมาก แต่ถูกลมพัดพาไปไม่ตกเป็นฝน ทำอย่างไรจึงจะบังคับให้เมฆตกเป็นฝนในพื้นที่แห้งแล้งที่ต้องการ” แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาความผันแปรไม่แน่นอนของฝนธรรมชาติในเวลานั้นทรงให้คงามสำคัญกับการจัดการทรัพยากรน้ำใน 2 วิธี คือ 1. สร้างเขื่อน (Check dam) และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กตามลาดเขา เพื่อชะลอการไหลบ่าของน้ำจากเขาไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่ทำกินของประชาชน ในขณะเดียวกันเขื่อนและอ่างเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ 2. วิธีการทำฝนเทียม (Rainmaking) เพื่อบังคับเมฆให้ตกเป็นฝนในพื้นที่ที่ต้องการ ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชดำริให้คิดค้นวิธีการทำฝนเทียมขึ้น โดยมี ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้รับสนองพระราชดำริในครั้งนั้น ในปี พ.ศ. 2512 ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ได้ทดลองทำฝนเทียมเป็นครั้งแรก และต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้เริ่มทำฝนเทียมช่อยเหลือเกษตรกร ควบคู่ไปกับการวิจัยและพัฒนากรรมวิธีทำฝน โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกาาติดตามและพระราชทานคำแนะนำอย่างใกล้ชิด ในปี พ.ศ. 2518 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้น อยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้มีพระราชกฤษฎีการวมกองบินเกษตรและสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงจัดตั้งเป็นสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อเชิดชูพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นองค์ริเริ่มการทำฝนเทียม ปัจจุบันสำนักฝนหลวงและการบินเกษตรมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคต่าง ๆ 9 ศูนย์ โดยมีฐานปฏิบัติการ ณ สนามบินในจังหวัดต่าง คือ สนามบินนาชาติจังหวัดเชียงใหม่ สนามบินกองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก สนามบินจังหวัดขอนแก่น สนามบินกองบิน 1 จังหวัดนครราชสีมา สนามบินกองบิน 2 จังหวัดลพบุรี (หรือ สนามบินจังหวีดนครสวรรค์) สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง (หรือ สนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี) สนามบินจังหวัดกาญจนบุรี ท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สนามบินจังหวัดสุราษฎร์ธานี (หรือ สนามบินจังหวัดสงขลา)
พระบรมราโชบาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า “การทำฝนหลวง ไม่ใช่รอให้เกิดภัยแล้งขึ้นแล้วจึงส่งคณะไปช่วยเหลือ การทำฝนหลวงอย่างมีประสิทธิภาพต้องทำในลักษณะของการจัดการทรัพยากรน้ำในรอบปี เมื่อมีโอกาสที่จะทำได้ให้เร่งสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นดิน พื้นที่เกษตร และป่าไม้และเติมน้ำกักเก็บไว้ในเขื่อนเพื่อสำรองไว้ใช้ยามแล้ง” นอกจากนี้ยังทรงมีพระบรมโชบายเกี่ยวกับฝนหลวงในด้านต่าง ๆ คือ 1) ด้านบริหารจัดการ - ให้พัฒนาอย่างเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ - ให้เป็นองค์ประกอบของการจัดการทรัพยากรน้ำ - เป้าหมายอยู่ที่ประชาชนมีน้ำใช้พอเพียงตลอดปี - กำหนดพื้นที่เป้าหมายการช่วยเหลือเป็นลุ่มน้ำ - ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานต้องเข้าใจการทำฝน - ต้องเข้าถึงและทำความเข้าใจกับประชาชน - ต้องเตรียมพร้อมด้านปัจจัย และเคลื่อนที่ได้เร็ว 2) ด้านปฏิบัติการ - ต้องศึกษาตำราฝนหลวงให้เข้าใจและถ่ายทอดกัน - นักบิน นักวิชาการ หน่วยงาน ต้องร่วมมือกัน - ต้นฤดูกาล ความชื้น 60% ก็ทำฝนได้ - ถ้าภัยแล้งกว้างขวางเอาฝนลงที่ไหนได้ก็เอาลง - ต้องศึกษาสภาพอากาศ วางแผน และติดตามผล - ต้องให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ผลประจำวัน - ทำฝนต้องบินเข้าเมฆได้ และบินสำรวจฝน - ต้องทุ่มเท เสี่ยงบ้าง และประสานงานกันให้เข้าใจ 3) ด้านการวิจัย - งานค้นคว้าวิจัย ต้องทำต่อเนื่อง ไม่มีสิ้นสุด - ไม่ย่อท้อต่อคำพิพากษ์วิจารณ์ - ต้องรวบรวมเสนอรายงานปรับปรุงตำราทำฝน - ให้ศึกษาผลกระทบเพื่อยืนยันว่าฝนหลวงไม่มีพิษ - ควรศึกษาและขยายผลในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น - ลดหรือป้องกันการเกิดพายุลูกเห็บ - การลดมลภาวะทางน้ำและผลักดันน้ำเค็ม - การดับไฟป่า
ตำราฝนหลวง ในปี 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชบายให้สำนักฝนหลวงฯนำไปพิจารณาดำเนินการโดยให้ถือว่า “ฝนหลวง” เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เป้าหมายหลักอยู่ที่การช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึงและไม่ขาดแคลนทั้งนี้ให้กำหนดพื้นที่เป้าหมายการช่วยเหลือเป็นลุ่มน้ำ ซึ่งในฤดูแล้งต้องสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นที่เกษตรและป่าไม้ ฤดูฝนต้องเติมน้ำในเขื่อนให้มีน้ำไม่ต่ำกว่า 80% พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประดิษฐ์ภาพด้วยคอมพิวเตอร์ แสดงขั้นตอนและกรรมวิธีวิธีดัดแปลงสภาพอากาศให้เกิดฝน จากเมฆอุ่นและเมฆเย็น ประมวลความรู้และขั้นตอนการปฏิบัติไว้อย่างสมบูรณ์ ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ซึ่งได้ทรงพระราชทานตำรานี้แก่นักวิชาการฝนหลวงเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2542 ให้ถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งในตำราฝนหลวงพระราชทานนั้น ทรงแบ่งเป็นช่องตารางสี่เหลี่ยม ถ้าเป็นตามแนวนอนเรียกว่า “แถว” มีทั้งหมด 8 แถว ตามแนวตั้งเรียกว่า “ช่อง” มีทั้งหมด 4 ช่อง โดย แถวบนสุด ช่องที่ 1 เป็นภาพนางมณีเมขลา เป็นภาพที่ใหญ่ที่สุด โดยทรงระบุให้นางมณีเมขลาเป็นสัญลักษณ์ของโครงการและเป็นหัวหน้าสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งเขาไกลลาศ หรือเขาพระสุเมรุวิเทศะ สันนิษฐานว่าอยู่ในทะเล ถัดมาทางขวา ช่องที่ 2 เป็นรูปพระอินทร์ทรงเกวียน โดยทรงอธิบายว่าพระอินทร์เป็นสักกะเทวราช เป็นราชาของเทวดาที่ทรงมาช่วยทำฝน ช่องที่ 3 ถัดจากพระอินทร์ทรงเกวียนทรงเขียนว่า “21 มกราคม 2542” และทรงอธิบายว่า เป็นวันที่ทรงประทับบนเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จฯ ไปประกอบพระราชกรณียกิจที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินกลับทรงสังเกตเห็นกลุ่มเมฆปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างที่น่าจะทำฝนได้ทรงบันทึกภาพเมฆเหล่านั้นพระราชทานลงมาและมีพระราชกระแสรับสั่งให้ส่งคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษออกไปปฏิบัติการกู้ภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และภาคเหนือตอนล่างโดยเร่งด่วน ช่องที่ 4 ในแถวบนสุดนี้ เป็นภาพเครื่องบิน 3 เครื่อง ทรงระบุว่า เป็นตัวอย่างของเครื่องบินที่เหมาะสมกับการปฏิบัติการตามตำราฝนหลวงพระราชทานประกอบด้วย เครื่องบินเมฆเย็น (Super King Air) เครื่องบินเมฆอุ่น (Casa) และเครื่องบินเมฆอุ่น (Caravan)
แถวที่ 1 ช่องที่ 2 – 4 เป็นภาพขั้นตอนที่ 1 ของการทำฝนหลวง ซึ่งทรงเรียกขั้นตอนนี้ว่า "ก่อกวน” โดยทรงอธิบายว่าเป็นการเร่งให้เกิดเมฆ โดยใช้เครื่องบินเมฆอุ่น 1 เครื่องโปรยสารเคมีผงเกลือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl2) ที่ระดับความสูง 7,000 ฟุต ในขณะที่ท้องฟ้าโปร่ง หรือเมฆเดิมก่อตัวอยู่บ้าง ความชื้นสัมพัทธ์ไม่น้อยกว่า 60% ให้เป็นแกนกลั่นตัว (Cloud Condensation Nuclei หรือเรียกว่า CCN) ความชื้นหรือไอน้ำจะถูกดูดซับเข้าไปเกาะรอบแกนเกลือแล้วรวมตัวกันเกิดเป็นเมฆ ซึ่งเมฆเหล่านี้จะพัฒนาขึ้นเป็นเมฆก้อนใหญ่ อาจก่อยอดถึงระดับ 10,000 ฟุต แถวที่ 2 ช่องที่ 1 – 4 เป็นภาพขั้นตอนที่ทรงเรียกว่า “เลี้ยงให้อ้วน” เป็นขั้นตอนที่เร่งการเจริญเติบโตของเมฆที่ก่อขึ้นหรือเมฆเดิมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และก่อยอดขึ้นถึงระดับ 10,000 ฟุต ฐานเมฆสูงไม่เกิน 7,000 ฟุต ใช้เครื่องบินแบบเมฆอุ่นอีกเครื่องหนึ่งโปรยผลแคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) เข้าไปในกลุ่มเมฆที่ระดับ 8,000 ฟุต หรือสูงกว่าฐานเมฆ 1,000 ฟุต ทำให้เกิดความร้อนอันเนื่องมาจากการคายความร้อนแฝง จากการกลั่นตัวรอบแกนกลั่นตัว (CCN) รวมกับความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาของไอน้ำกับสารแคลเซียมคลอไรด์โดยตรงและพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ตามธรรมชาติ จะเร่งหรือเสริมแรงยกตัวของมวลอากาศภายในเมฆยกตัวขึ้น และเร่งกิจกรรมการกลั่นตัวของไอน้ำและการรวมตัวกันของเม็ดน้ำภายในเมฆทวีความหนาแน่นจนขนาดของเมฆใหญ่ก่อยอดขึ้นถึงระดับ 15,000 ฟุต ได้เร็วกว่าที่จะปล่อยให้เจริญขึ้นเองตามธรรมชาติซึ่งยังเป้นส่วนของเมฆอุ่น จนถึงระดับนี้การยกตัวขึ้นลงของมวลอากาศ การกลั่น และการรวมตัวของเม็ดน้ำ ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องแบบปฏิกิริยาลูกโซ่ แต่บางครั้งอาจมีแรงยกตัวเหลือพอที่ยอดเมฆพัฒนาขึ้นถึงระดับ 20,000 ฟุต ซึ่งเป็นระดับเมฆเย็นที่เริ่มตั้งแต่ระดับประมาณ 18,000 ฟุตขึ้นไป (อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส) แถวที่ 3 ช่องที่ 1 – 3 เป็นภาพขั้นตอนที่เรียกว่า "โจมตี” เป็นขั้นตอนที่เร่ง หรือบังคับให้เกิดฝน เมื่อเมฆอุ่นเจริญเติบโตขึ้นจนเริ่มแก่ตัวจัด ฐานเมฆลดระดับต่ำลงประมาณ 1,000 ฟุต และเคลื่อนตัวใกล้เข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย ทำการบังคับให้ฝนตกโดยใช้เทคนิคการโจมตีแบบแซนด์วิช ด้วยการใช้เครื่องบินเมฆอุ่น 2 เครื่อง เครื่องหนึ่งโปรยผงโซเดียมคลอไรด์ทับยอดเมฆหรือไหล่เมฆที่ระดับ 9,000 ฟุต หรือไม่เกิน 10,000 ฟุตด้านเหนือลม อีกเครื่องหนึ่งโปรยผลยูเรียที่ระดับฐานเมฆด้านใต้ลม ให้แนวโปรยทั้งสองทำมุม 45 องศา เมฆจะทวีความหนาแน่นของเม็ดน้ำขนาดใหญ่ และปริมาณมากขึ้นตกลงสู่ฐานเมฆ ทำให้ฐานเมฆหนาแน่นจนใกล้ตกเป็นฝน หรือเริ่มตกเป็นฝน แต่ยังไม่ถึงพื้นดินหรือตกถึงพื้นดินแต่ปริมาณยังบางเบา แถวที่ 4 ช่องที่ 1 – 3 ยังอยู่ในขั้นตอนของการโจมตีเป็นขั้นที่เสริมการโจมตีเพื่อเพิ่มปริมาณฝนให้สูงขึ้น เมื่อกลุ่มเมฆฝนตามขั้นตอนที่ 3 ยังไม่เคยเคลื่อนตัวเข้าสู่เป้าหมาย ทำการเสริมการโจมตีเมฆอุ่นด้วยสารเคมีสูตรเย็นจัดคือ น้ำแข็งแห้ง (Dry ice) ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำระดับ -78 องศาเซลเซียสที่ได้ฐานเมฆ 1,000 ฟุต จะทำให้อุณหภูมิของมวลอากาศใต้ฐานเมฆลดต่ำลง และความชื้นสัมพัทธ์สูงขึ้น และจะยิ่งทำฐานเมฆยิ่งลดระดับต่ำลง ปริมาณฝนตกหนาแน่นยิ่งขึ้น และชักนำให้กลุ่มฝนเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่เป้าหมายหวังผลได้แน่นอนและเร็วยิ่งขึ้น หากกลุ่มเมฆฝนปกคลุมภูเขาก็จะเป็นวิธีการชักนำให้กลุ่มฝนพ้นจากบริเวณภูเขาเข้าสู่พื้นที่ราบ (บางตำราของสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร เรียกขั้นตอนนี้ว่า “เพิ่มฝน” และเป็นขั้นตอนต่อจากการโจมตีแบบแซนด์วิช โจมตีเมฆเย็นแบบธรรมดา และโจมตีเมฆเย็นแบบซูเปอร์แซนด์วิช ทั้ง 3 วิธีแล้ว) แถวที่ 5 ช่องที่ 1 – 3 ยังอยู่ในขั้นตอนของการโจมตีเช่นเดียวกัน เป็นการโจมตีเมฆเย็นด้วยซิลเวอร์ไอโอไดด์ (Agl) ขณะที่เมฆพัฒนายอดสูงขึ้นในขั้นที่ 2 ถึงระดับเมฆเย็น และมีเครื่องบินเย็นเพียงเครื่องเดียวทำการโจมตีเมฆเย็นโดยการยิงพลุสารซิลเวอร์ไอโอไดด์ที่ระดับความสูงประมาณ 21,500 ฟุต ซึ่งมีอุณหภูมิระดับ -8 ถึง -12 องศาเซลเซียส มีกระแสมวลอากาศลอยขึ้นกว่า 1,000 ฟุตต่อนาที และมีปริมาณน้ำเย็นจัดไม่ต่ำกว่า 1 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นเงื่อนไขเหมาะสมที่จะทำให้ไอน้ำระเหยจากเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวด (Super cooled vapour) มาเกาะตัวรอบแกนซิลเวอร์ไอโอไดด์ กลายเป็นผลึกน้ำแข็งไอน้ำที่แปรสภาพเป็นผลึกน้ำแข็งจะทวีขนาดใหญ่ขึ้นจนร่วงหล่นลงมาและละลายเป็นเม็ดน้ำเมื่อเข้าสู่ระดับเมฆอุ่นและจะทำให้ไอน้ำและเม็ดน้ำในเมฆอุ่นเข้ามาเกาะรวมตัวกันเป็นเม็ดใหญ่ขึ้น ทะลุฐานเมฆเป็นฝนตกลงสู่พื้นดิน แถวที่ 6 ช่องที่ 1 – 3 เป็นขั้นตอนการโจมตีอีกขั้นตอนหนึ่งที่ทรงเรียกว่า "ซูเปอร์แซนด์วิช” การโจมตีแบบซูเปอร์แซนด์วิช จะทำได้ต่อเมื่อมีเครื่องบินปฏิบัติการทั้งเมฆอุ่นและเมฆเย็นสามารถใช้ปฏิบัติการได้ครบ ขณะที่ทำการโจมตีเมฆอุ่นตามขั้นตอนที่ 3 และ 4 ทำการโจมตีเมฆเย็นตามขั้นตอนที่ 5 ควบคู่ไปในขณะเดียวกัน เครื่องบินเมฆอุ่นอีกเครื่องหนึ่งโปรยผงโซเดียมคลอไรด์ที่ระดับไหล่เมฆ จะทำให้ฝนตกหนักและต่อเนื่องนานให้ปริมาณน้ำฝนสูงยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นการประสานประสิทธิภาพของการโจมตีเมฆอุ่นในขั้นตอนที่ 3 และ 4 และโจมตีเมฆเย็นในขึ้นตอนที่ 5 ควบคู่ไปในระดับเดียวกัน จึงเรียกว่า “ซูเปอร์แซนวิช” ซึ่งยังไม่เคยมีใครในโลกเคยทำมาก่อน แถวสุดท้าย ของตำราฝนหลวงพระราชทาน ช่องที่ 1 เป็นภาพคน 2 คนหามแมวซึ่งนอนอยู่ในกรง และทรงเขียนใต้ภาพว่า “แห่ Cat" ทรงอธิบายว่า คือแห่นางแมว เป็นการรวมผลหรือประชาสัมพันธ์เพื่อบำรุงขวัญ เป็นพิธีกรรมขอฝนที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาล เป็นพิธีกรรมด้านจิตวิทยาเมื่อฝนแล้ง เกิดความเดือดร้อน ปั่นป่วน วุ่นวาย จึงต้องมีจิตวิทยาบำรุงขวัญให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่มีกำลังใจ ช่องที่ 2 เป็นรูปเครื่องบิน ทรงอธิบายว่า เป็นเครื่องบินทำฝน เครื่องบินต้องกล้าบินเข้าเมฆฝนเพื่อสำรวจและติดตามผล นักบินและนักวิชาการฝนหลวงต้องร่วมมือกัน ช่องที่ 3 เป็นรูปกบ และข้อความว่า "เลือกนาย หรือขอฝน” ทรงอธิบายว่ากบจะต้องร้องแทนอุตุนิยม ถ้าไม่มีความชื้นกบเดือดร้อนและกบจะเตือนให้มีความพยายาม มิฉะนั้นกบตาย ไม่มีฝนเกษตรกรตาย ท่านต้องจูบกบหลายตัวก่อนที่จะพบเจ้าชายเพียงหนึ่งองค์ ต้องมีความพยายามทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งเพื่อให้เกิดฝนได้สักครั้ง ช่องที่ 4 เป็นรูปบ้องไฟ ทรงอธิบายว่า บ้องไฟแทนเครื่องบิน ซึ่งเป็นพาหนะนำเทคโนโลยีฝนหลวงขึ้นไปประยุกต์ในท้องฟ้า เป็นประเพณีเรียกฝน ไม่ใช่ของเล่นแต่เป็นของจริงทำฝนด้วยการยิงบ้องไฟ บ้องไฟขึ้นสูงปล่อยควันเป็นแกนความชื้นเข้ามาเกาะแกนควัน ทำให้เกดเมฆ เกิดฝน บ้องไฟจึงเป็นพิธีการอย่างหนึ่ง เป็นวิทยาศาสตร์ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงได้ปฏิบัติตามตำราฝนหลวงที่ได้พระราชทานไว้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2542 จนถึงปัจจุบัน
สิทธิบัตรฝนหลวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ฝนหลวง เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2545 และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ถวายสิทธิบัตรเลขที่ 13898 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 โดยรัฐบาลได้ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรดังกล่าวต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2546 ต่อมาสำนักสิทธิบัตรยุโรปได้ออกสิทธิบัตรเลขที่ 1491088 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2548 ทูลเกล้าฯ ถวายแดต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภายใต้ชื่อว่า "Weather Modification by Royal Rainmaking Technology” หรือ “สิทธิบัตรฝนหลวง” ที่ได้ทรงจดทะเบียนในพระปรมาภิไธย สิทธิบัตรดังกล่าวครอบคลุมและขยายผลคุ้มครอง 30 ประเทศในยุโรป รวมทั้ง ฮ่องกง ทั้งนี้กำลังจะดำเนินการขอจดสิทธิบัตรในประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาและทรงห่วงใยพสกนิกรที่ประกอบอาชีพการเกษตรต้องประสบความเดือดร้อนจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซากทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย ขาดแคลนทั้งอาหาร และรายได้ที่จะเลี้ยงครอบครัวการพระราชทานน้ำฝนมาให้มิใช่ประโยชน์เฉพาะเกษตรกรที่จะทำให้สามารถเพาะปลูกได้เท่านั้นแต่ยังหมายถึงความอุดมสมบูรณ์แห่งผืนดินไทยทั้งมวลที่ประชาชนไทยทั่วไปจะได้รับอานิสงส์จากฝนหลวงพระราชทานนั้นด้วย
------------------------------------
กองบรรณาธิการผู้เขียน
กสิกร ปีที่ 79 ฉบับที่ 5 กันยายน – ตุลาคม 2549